ประวัติสมาคม
สมาคมเวชสารสนเทศไทยมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นชมรมข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มีชื่อย่อๆ ว่า ชขพ หรือ TMI ซึ่งมี กำเนิดมาตั้งแต่ปี 2534 โดยความริเริ่มของอาจารย์แพทย์ผู้มองเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ทางการแพทย์ โดยเมื่อปี พ.ศ.2534 มีการประชุมของ Medical Consortium ขึ้น และได้มีการเสนอให้มีกลุ่มทำงานด้าน Medical Informatics ขึ้นมา จากความคิดของ ศ. นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ศ. นพ.พิศิษฎ์ สัณหพิทักษ์ โดยแนะให้ตั้งเป็นชมรมขึ้นมาก่อน ในปี 2534 นั้นได้มีการจัดการประชุมทางวิชาการของกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งมีทั้งแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์และผู้สนใจอื่นๆ ขึ้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีผู้เข้าฟังแน่นล้นห้องประชุม และมีการนัดหมายในปีต่อไปจะจัดการประชุมเช่นนี้อีกที่ จ.สงขลา (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
ในปี 2535 มีการจัดประชุมทางวิชาการขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เริ่มมีการต่อตั้งชมรม มีใบสมัครออกแจกจ่ายให้สมัครสมาชิก ในระยะแรกมีสมาชิกทั้งสามัญ กิตติมศักดิ์ และสมาชิกแบบสถาบัน รวบรวมสมาชิกได้ประมาณ 300 ราย มีการเสนอให้ประธานชมรม คือ ศ. นพ.ธาดา ยิบอินซอย และมีกรรมการทั้งหมด 9 คน ในที่ประชุมสรุปวัตถุประสงค์ของชมรมได้ ดังนี้
- เป็นศูนย์กลางประสานงาน และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์
- เพื่อพัฒนาการบริหาร วิชาการ และการบริหารจัดการของงานข้อมูลข่าวสารการแพทย์
- เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในงานข้อมูลข่าวสารการแพทย์
- เพื่อเสริมสร้างขวัญ และกำลังใจในกลุ่มปฎิบัติงานข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์
- เพื่อเสนอแนะการพัฒนางานข้อมูลข่าวสารทางแพทย์แก่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ชมรมนี้ไม่ดำเนินการเพื่อเกี่ยวข้องกับการค้าและการเมือง
ในระยะแรก กรรมการส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ จึงมีการประชุมกรรมการที่ศิริราช เพราะนพ.ปรีชาเป็นเลขานุการ จัดประชุมที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ศิริราชเดือนละครั้งโดยประมาณ ซึ่งประธานชมรมมาจากหาดใหญ่ทุกครั้งที่ประชุม ยังไม่สามารถมี Teleconference กันได้
ในปี 2536 จัดการประชุมประจำปีของชมรมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เข้าร่วมประชุมมากขึ้นอีกเป็นประมาณ 700 คน มีหัวข้อที่นำมาพูดกันในระยะนั้น ได้แก่เรื่อง LAN, WAN, ระบบการ refer ผู้ป่วย, หรือ CD-ROM, Library Network Multimedia และมีการแนะนำชมรม TMI ในที่ประชุมด้วย นอกจากนี้ก็มีเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่เรื่อง BBS (Bulletin Board Service), Thai Index Medicus เป็นต้น
ในปี 2537 มีการจัดประชุมโดยมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเจ้าภาพร่วมกับชมรม TMI จัดการประชุมที่ Central Plaza ลาดพร้าว (กรุงเทพฯ) ผู้เข้าประชุมมากขึ้นอีกเป็นประมาณ 1,200 คน กรรมการของชมรมยังมีจำนวนเท่าเดิม และมีการปรึกษากันว่าควรมีผู้แทนของหน่วยงานต่างๆ ทั้งของราชการและเอกชนมาเป็นกรรมการ จะช่วยให้งานดำเนินไปด้วยดี ในระยะต้นๆ ของชมรม มีกรรมการที่มาดำเนินการก่อตั้งจากหลายหน่วยงานทั้งทหาร, กระทรวงสาธารณสุข, มหาวิทยาลัยแพทย์ต่างๆ ซึ่งกรรมการที่ก่อตั้งเหล่านี้มีส่วนผลักดันให้การดำเนินงานของชมรมเกิดขึ้นมาได้จนถึงปัจจุบันนี้ อุปสรรคคือการเดินทางในกรุงเทพฯ ที่ติดขัด ทำให้การประชุมไม่สะดวกเท่าที่ควร
บรรยากาศในชมรมเมื่อมีการประชุมไม่ว่าจะเป็นการประชุมกรรมการในแต่ละเดือน หรือการประชุมวิชาการประจำปีจะพบว่า เป็นกลุ่มหรือชมรมที่ไม่มีเส้นแบ่งของสถาบันมาเกี่ยวข้อง เพราะทุกคนมีความรู้สึกว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน ไม่ได้มาจากต่างสถาบัน แม้ว่าจะมีคำตอบ Q&A อยู่ครั้งหนึ่งว่าอยากให้มีกรรมการและสมาชิกจากฝ่ายสาธารณสุขก็ตาม จึงมีการเพิ่มจำนวนกรรมการกลางเป็น 20 คน ในระยะปัจจุบันนี้ และพยายามเชิญชวนหลายๆ หน่วยงานและหลายๆ วงการ ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐให้สมัครมาร่วมเป็นกรรมการ แต่ด้วยความจำกัดเรื่องระยะทาง ทำให้กรรมการจากต่างจังหวัดซึ่งเคยมี activity สูงมากต้องขอลาออกเพราะมาประชุมทุกครั้งไม่ไหว ซึ่งน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ชมรมจึงต้องหาทางแก้ปัญหาต่อไป ได้มีการทดลองใช้การประชุมทางไกล ซึ่งช่วยแก้ปัญหาได้พอสมควร
การประชุมประจำปีของชมรมทำต่อไปทุกปีด้วยการจัดของเจ้าภาพร่วมทั้งนั้น ในปี 2538 และ 2539 เจ้าภาพร่วมเป็นกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับชมรม TMI จัดที่โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ สองปีซ้อน เพราะหาเจ้าภาพลำบาก และกระทรวงสาธารณสุขจัดได้ดี (ขอบคุณกรรมการและบุคลากรจากกระทรวงไว้ ณ ที่นี้) ใน 2 ปีดังกล่าวนั้น ประธานชมรมเปลี่ยนมาเป็น ศ. นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งรับเป็นประธานให้เนื่องจากประธานชมรมต้องหมดวาระลงตามกฎของชมรม ในระยะนี้การประชุมกรรมการมีขึ้นที่สำนักงานของมหาวิทยาลัยมหิดล เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า สะดวกที่ประธานจะเข้าร่วมประชุมด้วย เนื่องจากมีภาระหน้าที่มาก จนเมื่อหมดวาระแล้วได้ประธานใหม่เป็น นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์
การจัดประชุมกรรมการในระยะนี้ทำที่กระทรวงสาธารณสุข และมีเรื่องที่น่าสนใจร่วมอภิปรายกันมาก กิจกรรมที่ดำเนินการในระหว่างปี ได้แก่ เรื่องการประชุมเกี่ยวกับ ICD9 และ HL7 มีการอภิปรายเรื่องมาตรฐานอย่างมาก เพราะจะเกิดปัญหาในภายหลังหากไม่มีมาตรฐานตั้งแต่เริ่มงาน จึงพยายามที่จะหามาตรฐานให้ได้ ระยะหลังๆ มีกรรมการเสนอให้เข้า Teleconference โดยอาศัยอุปกรณ์ของกระทรวงที่มีอยู่ จึงได้ทำ Teleconference ระหว่าง กรุงเทพฯ หาดใหญ่ ขอนแก่น อยู่หลายครั้ง เนื้อหาในช่วงนี้เป็นเรื่องการประชุมประจำปี 2540 ที่ต้องเลื่อนออกไป เพราะเกิดวิกฤตทางการเงินของประเทศ จนในที่สุดได้มาจัดที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวาระครบรอบ 50 ปี คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ
ในเดือน เมษายน 2548 ทางชมรมข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (ชขพ) ได้ทำการจดทะเบียนเป็นสมาคม ในนาม “สมาคมเวชสารสนเทศไทย Thai Medical Informatics Association (TMI)”
วิสัยทัศน์ และพันธกิจ
วิสัยทัศน์ของ TMI
“เป็นศูนย์จัดการความรู้ด้านเวชสารสนเทศ (ข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์และสาธารณสุข) ของประเทศไทย”
ในวิสัยทัศน์นี้ จะมี key word ที่สำคัญคือ
- การจัดการความรู้ ด้านเวชสารสนเทศ หมายถึง รวบรวมความรู้ แหล่งความรู้ ผู้รู้ และดำเนินการให้ความรู้นั้นได้รับการถ่ายทอด และนำไปใช้ประโยชน์ด้วยวิธีต่างๆ
- ของประเทศไทย แสดงว่าเราต้องการทำงานในขอบข่ายของประเทศไทยเท่านั้น โดยเน้นความรู้ที่เราสามารถสร้าง หรือรับมาประยุกต์ พัฒนาและต่อยอดขึ้นเพื่อใช้ในประเทศอย่างเหมาะสม
พันธกิจ
- เป็นศูนย์รวบรวมความรู้ และแหล่งอ้างอิงด้านเวชสารสนเทศของประเทศไทย
- ดำเนินการให้เกิดการแลกเปลี่ยน เผยแพร่องค์ความรู้ด้านเวชสารสนเทศ โดยวิธีต่างๆ
- เสนอแนะการพัฒนางานข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์แก่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
- ให้บริการความรู้ด้านเวชสารสนเทศแก่สมาชิกและสังคม
- ส่งเสริมการพัฒนานักเวชสารสนเทศ เพิ่มศักยภาพและพัฒนาความรู้ความชำนาญด้านเวชสารสนเทศให้กับสมาชิกและผู้ที่สนใจ
- เป็นตัวแทนของประเทศไทย ดำเนินกิจการเวชสารสนเทศ ร่วมกับองค์การในระดับนานาชาติ
ยุทธศาสตร์ของ TMI
- มุ่งพัฒนาขีดความสามารถ การบริหารจัดการภายในองค์กร ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ให้การสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่ม SIG (Special Interest Group) ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
- พัฒนาการดำเนินกิจกรรมโดยให้สมาชิกมีส่วนร่วมมากขึ้น
- ให้ความสำคัญกับ การบริการความรู้ด้านเวชสารสนเทศต่อสังคมให้มากขึ้น
- ส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมของสมาชิก TMI ในต่างจังหวัดให้มากขึ้น
- มุ่งสร้างเครือข่ายร่วมพัฒนาเวชสารสนเทศในสังคม